5725 จำนวนผู้เข้าชม |
จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.1839 พญามังรายได้สร้างเมือง นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ และย้ายมาประทับที่เมืองเชียงใหม่จนกระทั่งสวรรคต ส่วนเมืองเชียงรายนั้นก็กลายเป็นเมืองลูกที่พระองค์ส่งราชโอรสไปครองนับจากเวลานั้นเป็นต้นมา เมืองเชียงรายก็อยู่ในฐานะเมืองรอง ไม่ว่าจะนับศูนย์กลางเป็นที่เชียงใหม่ หรือกรุงเทพก็ตาม สถานะที่ไม่ใช่ศูนย์กลางความเจริญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองนั้น ได้ส่งผลให้เมืองเชียงรายมีอิสระในทางศิลปวัฒนธรรมที่ทำให้ยังคงความเป็นเชียงรายไว้ โดยไม่ถูกวัฒนธรรมภายนอกมากล้ำกรายมากนัก ศิลปินในเมืองเชียงรายจึงมีพื้นที่สร้างสรรค์งาน มีแรงบันดาลใจจากธรรมชาติที่เป็นสภาพทางภูมิศาสตร์ของจังหวัด และศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านของชาวเชียงราย
จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่พิเศษตรงที่มีศิลปินที่เป็นคนที่เกิดในพื้นที่จังหวัดเชียงรายหรือศิลปินที่มีถิ่นพำนักถาวรที่มาพำนักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีส่วนร่วมกับสังคมเชียงรายอย่างต่อเนื่องและมีความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินด้วยกันในแต่ละรุ่นเป็นอย่างดีจนถึงขั้นที่สามารถจัดตั้งสมาคมศิลปินจังหวัดเชียงรายเป็นผลสำเร็จ
ศิลปินเชียงรายได้สร้างสรรค์พื้นที่ทางศิลปะที่กลายเป็นสถาบันทางสังคม ในพื้นที่บ้านของตนเองให้มีลักษณะพิเศษเฉพาะตน ที่มีแนวทางสะท้อนทัศนคติ ความเชื่อและค่านิยม ตลอดจนสะท้อนผลงานศิลปกรรมของตนเอง โดยมีการจัดเก็บและแสดงผลงานของตนเองไว้ที่บ้าน และด้วยที่ศิลปินเองมีความสามารถในทางศิลปะมีความรู้สึกในความงามเป็นพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป การจัดเก็บผลงานศิลปะนั้นมีความสอดคล้องกับการมองและความพร้อมในการการชื่นชมผลงานศิลปะไปด้วยเช่นกัน บรรยากาศในบ้านศิลปินแต่ละแห่งจึงมีเสน่ห์ ชวนหลงใหลในบรรยากาศของผลงานศิลปะที่อบอวลไปในพื้นที่ของบ้านศิลปิน และบรรยากาศนี้เองก็ได้มีการชักชวนกันระหว่างเพื่อนศิลปินและผู้สนใจในงานศิลปะ เช่น นักวิชาการ นักวิจารณ์ นักสะสม และศิลปินสมัครเล่นต่างมาเยี่ยมเยือนบ้านศิลปินในจังหวัดเชียงรายไม่ขาด
ในปี พ.ศ. 2554 จังหวัดเชียงราย และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ได้มีโครงการสนับสนุนให้มีการเปิดบ้านศิลปิน เพื่อเชิดชูและส่งเสริมให้ศิลปินได้สร้างสรรค์ผลงานออกสู่สังคมในวงกว้าง อันจะนำไปสู่การเรียนรู้และการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงราย ศิลปินที่พร้อมเข้าร่วมโครงการใน
ปีพ.ศ.2554 นี้มีจำนวน 13 ท่าน ดังที่ปรากฏอยู่ในรูปด้านบน